วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล




ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทย

และภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล







          โครงสร้าง (structure) เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับการเรียนภาษา  เมื่อเราพูดเป็นประโยคที่มีใจความสมบูรณ์และสื่อสารกันรู้เรื่อง นั่นเป็นเพราะว่าเราเข้าใจโครงสร้างของภาษา เรารู้วิธีการเรียงคำศัพท์อย่างไรให้คนที่เราสื่อสารด้วยเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังสื่อ แต่ถ้าเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจโครงสร้างของภาษา การสื่อสารนั้นก็จะล้มเหลว 
           ดังนั้นนักแปลที่รู้แค่คำศัพท์ แต่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคำศัพท์และโครงสร้างของภาษาก็ไม่สามารถจะแปลความหมายได้ เพราะตีความผิดเพี้ยน หรือถ่ายทอดเป็นภาษาเป้าหมายผิด




          ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มักจะเป็นปัญหาสำหรับนักแปล เพื่อเป็นแนวทางในการแปล



1 ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ

          ชนิดของคำ (parts of speech) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างของภาษา เพราะเมื่อเราจะสร้างประโยคเราจะต้องนำคำมาเรียงให้เกิดความหมายที่ต้องการจะสื่อสาร ซึ่งประโยคจะถูกต้องก็ต่อเมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์  
         ดังนั้นเมื่อจะสร้างประโยคจะต้องคำนึงถึงชนิดของคำด้วย
ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category) เป็นลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ที่สัมพันธ์กับชนิดของคำ
เช่น  
            I saw an elephant. และ I saw elephants.  
             ประโยคทั้งสองจะมีความหมายแตกต่างกัน



1.1 คำนาม (noun) จะพบว่าในภาษาอังกฤษจะมีตัวบ่งชี้ลักษณะ แต่ในภาษาไทยจะไม่มีตัวบ่งชี้ใดๆ ซึ่งตัวบ่งชี้ลักษณะเหล่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแปลเป็นอย่างมาก


1.1.1 บุรุษ (pronoun) ภาษาอังกฤษจะแบ่งแยกอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นตัวที่บ่งบอกว่าคำนามหรือสรรพนามที่หมายถึง ผู้พูด (บุรุษที่1) ผู้ฟัง (บุรุษที่2 )ผู้ที่ถูกพูดถึงหรือโดนกล่าวถึง (บุรุษที่3) แต่ในภาษาไทยไม่มีการแบ่งแยกอย่างเด่นชัด เพราะบางคำสามารถใช้ได้หลายบุรุษ

เช่น เขา เป็นได้ทั้ง บุรุษที่ 2 และ 3

1.1.2 พจน์ (number) เป็นตัวที่บ่งบอกถึงจำนวน ในภาษาอังกฤษมีตัวบ่งชี้พจน์โดยใช้ determiner

เช่น  a/an ใช้กับคำนามเอกพจน์ และคำนามพหูพจน์จะเติม –s หลังคำนาม

       แต่ภาษาไทยจะไม่มีการแบ่งแยกจำนวนของสิ่งของ เราอาจจะเคยได้ยินหรือเห็นคำว่า ทั้งหลาย หลายตัว หลายคน แต่หากมาใช้ในการแปลมันจะเป็นงานแปลที่ไม่เป็นธรรมชาติ

เช่น  Cats are beautiful animals.
(ถูก)   แมวเป็นสัตว์สวยงาม
(ผิด)   แมวทั้งหลายเป็นสัตว์สวยงาม

        He lives in a big house.
(ถูก)    เขาอยู่บ้านหลังใหญ่
(ผิด)    เขาอยู่บ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง

1.1.3 การก (case) เป็นตัวบ่งชี้ว่าคำนามนั้นทำหน้าที่อะไร เช่น เป็นประธาน หรือเป็นกรรม ในภาษาอังกฤษ การกแสดงความเป็นเจ้าของจะเติม ‘s หลังคำนาม  เช่น mother’s handbag
สำหรับในภาษาไทยจะไม่มีการเติมตัวท้ายคำ เพื่อแสดงการก แต่จะใช้การเรียงคำ เช่น กระเป๋าถือแม่

1.1.4 นามนับได้ กับ นามนับไม่ได้ ( countable noun and uncountable noun)  คำนามในภาษาอังกฤษจะมีการแบ่งออกเป็น คำนามนับได้ และ คำนามนับไม่ได้ ซึ่งใช้ a/an กับคำนามนับได้ที่เป็นเอกพจน์ และเติม –s กับคำนามที่เป็นพหูพจน์ ส่วนคำนามนับไม่ได้ ไม่ต้องใช้ทั้ง a/an และ –s เช่น
คำนามนับได้
a cat  -  cats
an egg  -  eggs
คำนามนับไม่ได้
hair
water

        และมีการใช้หน่วยบอกปริมาณหรือปริมาตรของคำนามที่นับไม่ได้ ทำให้เป็นหน่วยเหมือนคำนามนับได้
เช่น  a spoonful of sugar     a bowl of rice     a cup of coffee    

        สำหรับภาษาไทย คำนานทุกคำสามารถนับได้ เพราะมีลักษณนามบอกจำนวนของสิ่งเหล่านั้นได้
แมว 1 ตัว
แมว 7 ตัว
ไข่ 1 ฟอง/ใบ
ไข่ 10 ฟอง/ใบ
น้ำ 1 หยด
น้ำ 5 หยด


 1.1.5 ความชี้เฉพาะ (definiteness) เป็นไวยากรณ์ที่ภาษาอังกฤษใช้แยกความแตกต่างระหว่างนามชี้เฉพาะกับนามไม่ชี้เฉพาะ โดยตัวบ่งชี้เฉพาะ คือ the  และชี้ไม่เฉพาะ คือ a/an แต่ไม่สำคัญในภาษาไทย

เช่น  
            A man came to see you this morning. 
          The man came to see you this morning. 
              ทั้งสองประโยคนี้มีความแตกต่างกัน

        ดังนั้นเมื่อแปลเป็นภาษาไทยจึงไม่ต้องแปลลักษณะดังกล่าว เพราะจะทำให้ไม่เป็นธรรมชาติและไม่น่าอ่าน
เช่น 
       He saw a dog …. Then the dog chased him.
(ถูก)  เขาเห็นสุนัข .... แล้วเจ้าสุนัขก็วิ่งไล่เขา
(ผิด)  เขาเห็นสุนัขตัวหนึ่ง .... แล้วเจ้าสุนัขตัวนั้นก็วิ่งไล่เขา




1.2   คำกริยา  (verb) ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของประโยค เพราะมีการใช้กริยาที่หลายประเภทและซับซ้อนกว่าคำนาม เช่น กาล (tense) การณ์ลักษณะ (aspect) มาลา (mood) วาจก (voice) และการแยกความต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite and non finite)

1.2.1 กาล (tense) เป็นกริยาที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นอดตี ปัจจุบัน หรืออนาคต ผู้พูดจะไม่สามารถใช้คำกริยาได้ หากไม่มีตัวบ่งชี้กาล
เช่น  Mary likes him. และ Mary liked him.
เมื่อแปลเป็นภาษาไทยทั้งสองประโยคจะไม่แตกต่างกัน เพราะภาษาไทยจะไม่ถือว่าเรื่องกาลจะเป๋นเรื่องสำคัญ

1.2.2 การณ์ลักษณะ (aspect) เป็นลักษณะของการกระทำหรือเหตุการณ์ ซึ่งในภาษาอังกฤษมีการณ์ที่สำคัญ คือ การณ์ลักษณะต่อเนื่อง หรือการณ์ลักษณะดำเนินอยู่ และการณ์ลักษณะเสร็จสิ้น  การณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษจะสัมพันธ์กับกาลเสมอ เพราะผู้พูดจะต้องนึกถึงกาลตลอดเวลา รวมทั้งต้องมีการเรียงลำดับเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนและหลังด้วย  
       สำหรับประเทศไทยก็มีการณ์ลักษณะเช่นกันจึงทำให้เข้าใจได้ง่ายเมื่อแปลเป็นภาษาไทยและผู้อ่านสามารถตีความเหตุการณ์เหล่านั้นได้จากปริบท ว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง

     We were having dinner when the lights went out.

     Every time the teacher asks a question ,John knows the answer.

1.2.3 มาลา (mood) ทำหน้าที่แสดงว่าผู้พูดมีความคิดต่อเหตุการณ์หรือเรื่องที่พูดอย่างไร โดยการเปลี่ยนรูปคำกริยา หรืออาจจะใช้คำกริยาช่วยที่เรียกว่า modal auxiliaries (may , might , can , could , should)

                       I wish I knew him. (know)
I wish I had attended the lecture last week. (attended)
                     You may be right (are right)

ส่วนภาษาไทย มาลาจะใช้โดยกริยาช่วยหรือคำวิเศษณ์เท่านั้น ไม่ต้องมีการเปลี่ยนรูปกริยา

1.2.4 วาจก (voice) เป็นตัวบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำที่แสดงโดยกริยาว่า ประธานเป็นผู้กระทำ หรือเป็นผู้ถูกกระทำ

       This building was designed by a famous architect.
           อาคารหลังนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียง 
                ( ประโยคกรรม กริยาไม่มีการเปลี่ยนรูป )

               They said 16 bodies had been recovered.
          พบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 16 ศพ ( ประโยคนี้จะไม่มีประธาน )

            Wheat is grown with water and liquid fertilizer.
                    ข้าวสาลีเจริญเติบโตด้วยน้ำและปุ๋ยน้ำ 
         ( ประโยคนี้เป็นอกรรมกริยา คือ ไม่ต้องมีกรรมมารองรับ )

1.2.5 กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite and non finite) ในแต่ละประโยคเดี่ยวจะมีกริยาแท้ได้เพียงหนึ่งตัวเท่านั้น ส่วนกริยาตัวอื่นในประโยคต้องแสดงรูปให้ชัดเจนว่าไม่ใช่กริยาแท้

      Cousteau ,delivering the commencement address ,spoke about population control and environmental issues.


          ในการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้แปลจะต้องขึ้นประโยคใหม่ เพราะเป็นการทำกริยาไม่แท้ให้เป็นกริยาแท้ของประโยคใหม่

     His father sat upon his bed ,coughing and fumbling for his shoes upon the floor.
พ่อนั่งรออยู่บนที่นอน แกไอพลางก้มลงคลำหารองเท้าที่พื้นไปพลาง




1.3   ชนิดของคำประเภทอื่น คำที่เป็นปัญหาในตัวคำศัพท์ก็คือ คำบุพบท (preposition) และคำวิเศษณ์ (adjective) เพราะการใช้ในภาษาอังกฤษและภาษาไทยจะมีความแตกต่างกัน

1.3.1  คำบุพบท (preposition) ในภาษาอังกฤษ คำบุพบทสามารถอยู่ท้ายวลีหรือประโยคได้ แต่ในภาษาไทยไม่มีโครงสร้างการใช้อย่างนี้

                        We first met at a party.
                      เราพบกันครั้งแรกในงานเลี้ยง

                  This is a good pen to white with.
                           นี่เป็นปากกาที่เขียนดี

1.3.2  คำวิเศษณ์ (adjective) จะใช้กับ verb to be (is am are) เมื่อทำหน้าที่เป็นภาคแสดงของประโยค และเมื่อแปลเป็นภาษาไทย อาจจะมีปัญหา เพราะคำขยายจะอยู่หลังคำหลัก ซึ่งตรงกันข้ามกับภาษาอังกฤษ

             The intelligent young college student.
(ถูก)  นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เยาว์วัยและเฉลียวฉลาด
(ผิด)  นักศึกษามหาวิทยาลัยเยาว์วัยวัยเฉลียวฉลาด




2 หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

หน่วยสร้างคำ (construction) คือ หน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง

2.1นามวลี ในภาษอังกฤษจะมีตัวกำหนด (determiner) ที่อยู่หน้าคำนามเสมอ ถ้าคำนานนั้นเป็นนามนับได้และเป็นเอกพจน์ แต่ในภาษาไทยจะมีหรือไม่มีก็ได้

   2.2 การวางส่วนขยายในนามวลี  ในภาษาอังกฤษจะวางส่วนขยายไว้ด้านหน้าของส่วนหลัก แต่ถ้าส่วนขยายยาวหรือซับซ้อน ผู้แปลอาจแปลเป็น relative clause หรือขึ้นประโยคใหม่โดยเก็บใจความ

   2.3 หน่วยสร้างกรรมวาจก  ในภาษาอังกฤษมีรูปแบบเด่นชัดและมีแบบเดียว คือ ประธาน/ผู้รับการกระทำ +  กริยา (verb to be) +  past participle + (by + นามวลี/ผู้กระทำ) แต่ในภาษาไทยมีหลายรูปแบบ

   2.4 หน่วยสร้างประโยคเน้นประธาน กับประโยคเน้นเรื่องประโยค ในภาษาอังกฤษต้องมีประธานเสมอ แต่ในภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีประธานก็ได้ และส่วนใหญ่ประโยคจะขึ้นต้นด้วยเรื่อง

  2.5 หน่วยสร้างกริยาเรียง เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรมาคั่นระหว่างกลาง ยกเว้นกรรมของกริยา ซึ่งจะมีในภาษาไทย แต่ไม่พบในภาษาอังกฤษ
เช่น

     by managing to prevent ,cure ,and stop diseases.
            โดยจัดการป้องกันบำบัดและระงับโรคต่างๆ










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น